Thursday, March 5, 2009

โรคจอประสาทตาเสื่อม: ไม่เพียงพร่ามัวแต่สุดท้ายตาบอด

ดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ แต่ถ้าหน้าต่างบานนี้เกิดใช้ไม่ได้ ปิดสนิทแล้วอะไรจะเกิดขึ้น แน่นอนเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงควรให้ความสำคัญกันตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องใช้สายตามากๆ หรือผู้ทที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยกลางคน เพราะสิ่งที่จะมาถามหาแบบไม่ให้ตั้งตัวกันเลยนั่นคือ "โรคจอประสาทตาเสื่อม" ความร้ายกาจของโรคนี้ไม่ได้แค่ทำให้หูตาฝ้าฟางลงเท่านั้น แต่อาจจะส่งผลทำให้ดวงตาอาจมืดบอดได้





รศ. น.พ.วิชัย ประสาทฤทธา หัวหน้าหน่วยจอประสาทตา ภาควิชาจักษุวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดีกล่าวว่า ปัญหาของผู้ป่วยโรคนี้ก็คือ ผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวว่ากำลังจะเป็น มารู้ตัวก็พบว่าการมองผิดปกติไปแล้ว อาจจะออกมาในรูปของตาพร่ามัว ความชัดเจนในการมองเห็นลดลง มองเห็นภาพบิดเบี้ยว มองเห็นตรงกลางของภาพไม่ชัดเจน ความเสี่ยงของโรคนี้มักจะจู่โจม เอาตอนที่อายุเริ่มล่วงเข้าวัย 50 ปีขึ้นไป แล้ว

สาเหตุ ของโรคนั้นเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การเสื่อมตามอายุ พันธุกรรมติดเชื้อ สายตาสั้นมาก ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง รวมถึงหญิงวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับประทานฮอร์โมนทดแทน
และที่เป็นศัตรูตัวร้ายเอามากๆ นั่นคือ การสูบบุหรี่

หลักฐานทางการแพทย์พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และมีโอกาสเกิดโรคนี้เร็วกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 ปี ส่วนอาการที่ของโรคจอประสาทตาเสื่อม มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ แบบแห้ง (dry AMD) และแบบเปียก (wet AMD)

แบบแห้ง เกิดจากการที่ศูนย์กลางรับภาพของจอประสาทตา (macula) เสื่อมหรือบางลง ทำให้การมองเห็นลดลง ซึ่งจะเป็นไปอย่างช้าๆ

แบบ เปียก เกิดจากเส้นเลือดผิดปกติงอกขึ้นมา หากเส้นเลือดที่เปราะบางเกิดรั่วซึมจะทำให้จุดรับภาพบวม ภาพเริ่มพร่ามัวและตาบอดในที่สุด และจะเป็นอย่างรวดเร็ว

แม้ปัจจุบัน จะมีวิธีการรักษาอยู่หลายวิธี ทั้งการใช้เลเซอร์ การฉีดยาไปยับยั้งเส้นเลือด ไปจนถึงการผ่าตัดก็ตาม แต่ควรจะดูแลป้องกัน ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว มีข้อแนะนำวิธีการยืดอายุ จอประสาทตาไว้ดังนี้

1) งดการสูบบุหรี่

2) หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดตั้งแต่อายุยังน้อยๆ อยู่

3) ควบคุมน้ำหนักตัว ไม่กินอาหารที่มีไขมันสูง รับประทานผักใบเขียวและผลไม้ทุกวัน

4) รับประทานสารอาหารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ลูทีน และซีแซนทีน โดยเฉพาะในกลุ่มคนไข้แบบแห้ง (dry AMD) แต่ก็ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์

5) หากต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เองควรเลือกจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ อ่านฉลากกำกับให้ละเอียด เลือกสารอาหารที่ให้ประโยชน์เกี่ยวกับดวงตาโดยตรง เช่น วิตามิน ซี วิตามิน อี สังกะสี เบต้าแคโรทีน โอเมก้า 3 ลูทีน ซีแซนทีน และควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีผลการวิจัยและเอกสารทางการแพทย์รับรอง

6) หากรู้สึกว่าเกิดอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ แต่ทางที่ดีผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจสุขภาพตาทุก 1-2 ปี

การตรวจพบและให้การรักษาตั้งแต่ระยะแรกจะช่วยเยียวยายืดอายุให้ดวงตาสามารถใช้งานต่อไปได้

ข้อมูลจาก D Life ประชาชาติธุรกิจ

1 Comments:

  1. ค้นพบสาเหตุที่แท้จริงของโรคจอตาเสื่อมและรักษาได้แล้ว
    เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่
    http://amd.doctorsomkiat.com/
    http://rpsiam.doctorsomkiat.com/

    ReplyDelete