Thursday, February 19, 2009

Bipolar: โรคใหม่ที่กำลังคุกคามคนไทย

พวกเราเคยเห็นไหมคนอารมณ์แปรปรวน ดีก็ดีจนใจหาย ร้ายก็ร้ายเหลือแสน ปรับเปลี่ยนไวจนเอาใจไม่ถูก ทำเอาคนที่อยู่ด้วยเหนื่อยใจไปตามๆ กัน เอาเป็นว่าถ้าเจอคนแบบนี้อย่าไปโกรธอย่าไปเบื่อเขา แต่ควรจะสงสารและเข้าใจเขา เพราะว่าเขาอาจจะกำลังป่วยเป็นโรคที่เรียกว่า"ไบโพลาร์" หรือ "โรคอารมณ์สองขั้ว"

โรคชื่อแปลกนี้นับวันที่จะมีคนป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกที คนไทยที่พบตอนนี้มีคนเป็นมากถึง 6 แสนคนแล้ว !!
ที่สำคัญความรุนแรงของโรคนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่อารมณ์ที่เปลี่ยน แต่อาจส่งผลถึงชีวิตก็เป็นได้ จากข่าวคราวที่เกิดขึ้น จนเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์..ทีมีผู้หญิงก่อเหตุโยนหลาน 2 คนลงมาจากคอนโดมิเนียม ก่อนจะกระโดดลงมาฆ่าตัวตายตาม ผลการตรวจพบว่า หญิงรายนี้ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์


 มาดูกันโรคนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ?

ไบโพลาร์มาจากคำว่า "bi" แปลว่า 2 และ "polar"ที่แปลว่า ขั้ว และสิ่งที่ถูกแบ่งเป็น 2 ขั้ว ก็คือ อารมณ์
เป็นอารมณ์ที่สุขและทุกข์อย่างเกินพิกัดนานเกินเหตุ อาจมีอาการคึก อาการเศร้า และอารมณ์ปกติสลับกันไปมา

ถ้าอยู่ใน "ระยะคึก" จะอารมณ์ดีมาก พูดคุยเก่ง แต่มักไม่จบเรื่องเพราะความคิด วิ่งเร็วเกินไป มักคิดว่าตนเองมีความสามารถเหนือคนอื่น แต่อารมณ์ที่ดีอาจจะกลายเป็นฉุนเฉียว ก้าวร้าวเพราะถูกขัดใจ หลายคนใช้เงินเก่ง เล่นการพนัน บางรายหาเรื่องชกต่อย บ้าพลัง

ถ้าอยู่ใน "ระยะเศร้า" ผู้ป่วยรู้สึกเศร้า ท้อแท้ ความคิดไม่แล่น ไม่อยากทำอะไร บางครั้งฉุนเฉียวหงุดหงิด รู้สึกลบกับชีวิต หนักๆ เข้าก็คิดอยากตาย

ทั้งสองระยะจะมีอาการร่วม คือ นอนไม่หลับ หรืออาจจะทำให้ติดยาได้

สาเหตุของการแปรปรวนทางอารมณ์นี้แท้จริงเกิดจากสารเคมีในสมองเกิดความผิดปกติ ซึ่งอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ยิ่งบวกเข้ากับสิ่งเร้าสภาวะกดดันด้านต่างๆ ยิ่งจะเป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการเหล่านี้แสดงออกมาได้โดยไว

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เขาแปรปรวนแล้วหรือไม่ เรื่องนี้คนใกล้ชิดต้องช่วยกันจับตามองว่ามีพฤติกรรม
ที่ผิดแผกไปจากปกตหรือไม่ เช่น ถ้ามีเรื่องสะเทือนใจเกิน 1-6 เดือนก็น่าจะเข้าข่ายที่จะเป็นไบโพลาร์แล้ว สำหรับการรักษานั้น ต้องบอกว่าโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยแพทย์จะดูว่าสารเคมีตัวไหนขาดหรือเกินก็จะเข้าไปช่วยในจุดนั้น ควบคู่ไปกับการบำบัด และกินยาสม่ำเสมอก็จะกลับมามีชีวิตดีๆ ได้ตามปกติเหมือนเดิม

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4081
คอลัมน์ วาไรตี้เฮลท์

0 Comments:

Post a Comment