Saturday, March 21, 2009

Sunscreen - ครึมกันแดดมีประโยชน์อย่างไร และวิธีใช้ครึมกันแดดอย่างถูกวิธี

อากาศร้อน แดดแผดเผาเช่นนี้จำเป็นต้องพึ่งตัวช่วยพิเศษแล้ว ตัวช่วยที่ว่านี้ก็คือ "ครีมกันแดด"

ในปัจจุบันมีครีมกันแดดให้เลือกมากมายหลากยี่ห้อ หลายชนิด แถมยังมีตัวพ่วงนามสกุลลงท้ายที่แตกต่าง เรียกว่าทำเอางงเวลาที่จะเลือกหามาใช้งาน  มารู้จักครีมกันแดดกันดีกว่า



ครีมกันแดดจะทำหน้าที่ป้องกันรังสีจากแสงแดดที่มีทั้ง รังสี UVB หรือรังสีอัลตราไวโอเลต, UVA และรังสีที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (visible light) ซึ่งรังสีทั้งหมดจะส่งผลทำอันตรายต่อผิว UVA ทำลายคอลลาเจนทำให้ผิวเสื่อม เหี่ยวย่น UVB ทำให้ผิวไหม้แดด ผิวดำ และทำให้เกิดมะเร็งของผิวหนัง

ตัวครีมกันแดดจะมีสารป้องกันได้ 2 แบบ โดยการ "ดูดแสง" (chemical sunscreen) และ "สะท้อนแสง" (physical sunscreen)
  • สารดูดแสงจะดูดแสงแล้วเปลี่ยนแสงให้เป็นพลังงานความร้อน ป้องกันไม่ให้แสงผ่านลงไปในชั้นผิวหนัง ซึ่งบางชนิดจะสามารถซับแสง UVA  หรือ UVB ได้ หรือได้ทั้ง UVA, UVB แต่ไม่สามารถปกป้อง visible light ได้ 
  • สารสะท้อนแสง สารกลุ่มนี้จะใช้วิธีการสะท้อนแสงออกไปจากผิว ซึ่งสามารถปกป้องได้ทั้ง UVA, UVB และ visible light

การ เลือกครีมกันแดดนั้นควรเลือกครีมที่มีสารกันแดดชนิดสะท้อนแสง UVA, UVB และ visible light ปนกัน อีกทั้งควรมีความเข้มข้นของสารแต่ละตัวอย่างพอเหมาะ ไม่มากไปหรือน้อยจนเกินไป และเพื่อได้ประสิทธิภาพสูงสุดควรดูค่าของครีมนั้นๆ ด้วยค่าที่ว่านี้จะมีคำว่า SPF และ PA กำกับอยู่

SPF เป็นค่าวัดประสิทธิภาพของสารกันแดดที่กัน UVB เท่านั้น เป็นค่าบอกว่าจะอยู่กลางแดดนานแค่ไหนโดยไม่ทำให้ผิวไหม้หรือแสบร้อน เช่น SPF15 หมายถึง ครีมกันแดดนั้นป้องกัน UVB ได้ถึง 15 เท่าเทียบกับผิวที่ไม่ได้ทาครีมกันแดดที่จะไหม้แดดเอาในตอน 15-30 นาที เท่ากับว่าเมื่อทา SPF15 จะสามารถอยู่กลางแดดได้นานขึ้น 15 เท่า หรือ 3-4 ชั่วโมง

PA เป็นค่าที่ใช้วัดประสิทธิภาพของสารกันแดดที่กันรังสี UVA โดยมักจะมีสัญลักษณ์บอกให้รู้เป็น-ระดับ คือ PA+/PA++/PA+++ ซึ่ง PA+ ก็เพียงพอในการทำกิจกรรมเกือบทุกประเภท แต่หากต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานานก็ควรเลือก PA++ หรือสูงขึ้นไปอีก

ส่วนวิธีการใช้นั้น แค่ใช้ครีมปริมาณราวเมล็ดถั่วแต้มไปตามจุดต่างๆ บนใบหน้าแล้วเกลี่ยให้ทั่ว รวมไปถึงตามอวัยวะที่มีโอกาสถูกแดด อย่าลืมว่าควรทาครีมกันแดดก่อนจะออกแดดราวครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ครีมกันแดดเกาะติดผิวจะได้ป้องกันจากฤทธิ์ของแดดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา: Variety Health หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

0 Comments:

Post a Comment