Tuesday, February 17, 2009

What To Do When You're Fired!

บทความจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4079

ถูกปลดออก...ทำอย่างไรดี ?

คอลัมน์ ถามมา-ตอบไปสไตล์คอนซัลต์

โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา apiwut@riverorchid.com

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ใครต่อใครก็พูดถึงแต่เรื่องการปลดพนักงานออก ผมเองก็ได้รับคำถามเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ค่อนข้างเยอะมาก มีอีเมล์ฉบับหนึ่งเขียนมาถามผมเกี่ยวกับการปลดพนักงานออก ในอีเมล์แทบจะไม่ได้เขียนอะไรมากเลย ชื่อก็ไม่มี มีแต่คำถามสั้นๆ ที่เขียนว่า...มีข่าวลือภายในองค์กรว่าจะมีการปลดพนักงาน เราควรจะทำอย่างไรบ้างเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง



ดูเหมือนเจ้าของอีเมล์จะพยายาม ปกปิดตนเองมาก แม้แต่เพศยังไม่ต้องการให้ผมรู้เลย แต่ไม่เป็นไรครับ ผมจะพยายามตอบเท่าที่ตอบได้

สำหรับ ข่าวลือเรื่องการปลดพนักงานออกนั้น ผมว่าตอนนี้หลายๆ องค์กรคงจะกำลังประสบกับข่าวลือประเภทนี้ โดยเฉพาะองค์กรข้ามชาติที่มีการปลดพนักงานออกแล้วในต่างประเทศ หรือองค์กรขนาดกลางและเล็กที่มียอดขายที่ลดลงในช่วงหลังของปีที่ผ่านมา

พูดจริงๆ แล้วข่าวลือก็คือข่าวลือ แต่ข่าวลือส่วนมากจะมีความจริงผสมอยู่บ้าง (แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด) และคนส่วนมากจะนิยมเชื่อข่าวลือ โดยเฉพาะข่าวลือที่มาในทางร้ายๆ แต่การมีข่าวลือเรื่องการปลดคนออกมาภายในองค์กร จะเชื่อหรือไม่ อย่างน้อยคุณอาจจะต้องการเตรียมตัวในบางเรื่องไว้บ้าง

สิ่งแรกที่ผม แนะนำในการเตรียมตัว คือการหาข้อมูล โดยข้อมูลที่คุณต้องหาเป็นข้อมูลเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ของคุณ เรื่องอย่างนี้ถึงไม่บอกหลายคนคงเตรียมตัวไว้แล้ว แต่ที่ผมอยากจะแนะนำในการหาข้อมูลส่วนนี้คือเริ่มจากการมาดูว่ารายได้ที่ ผ่านมาในแต่ละเดือนของเราเป็นอย่างไรบ้าง อะไรที่ได้รับเป็นประจำทุกเดือน แล้วลองศึกษากฎหมายแรงงานดูว่า ด้วยอายุงานของคุณ คุณควรจะได้รับค่าชดเชยกี่เดือน เช่น พนักงานที่ยังอยู่ในช่วงทดลองงาน จะไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนพนักงานที่ผ่านช่วงทดลองงานแล้วแต่ไม่เกิน 1 ปี จะได้ค่าชดเชย 1 เดือน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีค่าตกใจอีกในกรณีที่ให้ออกจากงานในทันที คือคุณจะได้ 1 เดือนเป็นค่าตกใจเป็นอย่างน้อย (กฎหมายเรียกค่าตกใจนี้ว่า ค่าแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า) แต่ถ้าทางองค์กรบอกล่วงหน้า คุณจะไม่ได้ค่าตกใจนะครับ ผมคงพอบอกได้แค่คราวๆ เกี่ยวกับเรื่องกฎหมายแรงงาน ในรายละเอียดคุณอาจจะต้องไปศึกษาเองเพื่อป้องกันสิทธิของตัวคุณเอง

ทีนี้หลังจากที่คุณได้ศึกษาแล้ว และถ้าข่าวลือที่คุณได้ยินเกิดเป็นความจริงขึ้นมา สิ่งที่คุณต้องทำอย่างแรกเลยคือคุณต้องควบคุมตนเองให้ได้ อย่าโวยวาย หรือร้องไห้ฟูมฟายเสียใจจนเกินเหตุ ควบคุมสติของคุณให้ดี อย่าคิดจะแก้แค้นโดยการทำลายเอกสารที่องค์กรให้ไว้ หรือเดินไป ชกหน้านายจ้างเพราะนั่นจะเข้าข่ายเป็นคดีความได้ คุณคงไม่ต้องการที่จะตกงานและมีคดีความติดตัวไปตลอดชีวิต...ใช่ไหม อย่าให้อารมณ์ชั่ววูบทำลายชีวิตคุณ

การถูกปลดจากงานไม่ใช่สิ่งสุดท้ายในชีวิตคุณ จงอย่าคิดสั้นเช่นกัน ตั้งสติให้ดีแล้วลองตั้งคำถามกับนายจ้างของคุณเพื่อให้เข้าใจว่า อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณถูกเลิกจ้าง แล้วที่คุณถูกเลิกจ้างนี้ คุณจะได้อะไรเป็นการชดเชยบ้าง

จากนั้นนำเอาเอกสารเกี่ยวกับการเลิกจ้างและการจ่ายเงินชดเชยที่นายจ้างของคุณให้มา นั่งอ่านดูอย่างละเอียด ดูว่าสิ่งที่เขาให้เพื่อเป็นการชดเชยนั้นเป็นธรรมหรือไม่ ถ้าคุณคิดว่าสิ่งที่องค์กรให้นั้นยังไม่เป็นธรรมเท่าที่ควร สิ่งที่ผมอยากแนะนำคือให้คุณลองไปปรึกษาหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เช่นสำนักงานแรงงาน ให้เขาช่วยดูว่าคุณพอจะทำอะไรหรือเรียกร้องอะไรเพิ่มเติมได้บ้าง

แต่ถ้าคุณมองว่าสิ่งที่องค์กรให้มานั้นเป็นธรรมอยู่แล้ว จงหยุดคิดเรื่องที่ถูกปลดออกจากงานเสีย เริ่มต้นชีวิตใหม่ เพราะการเลิกจ้างไม่ใช่ความผิดของคุณและก็ไม่ใช่สิ่งสุดท้ายในชีวิตของคุณ ตั้งสติแล้วค่อยๆ คิด บางที่วิกฤตบางครั้งก็กลายมาเป็นโอกาสที่ดีของคุณได้ เหมือนกับหลายๆ คนในช่วงวิกฤตปี"40 ที่ถูกให้ออกจากงาน และตัดสินใจมาเปิดกิจการเป็นของตนเอง

ผลที่ออกมาคือรวยกว่าการเป็น ลูกจ้างเสียอีก อย่างคุณศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ เจ้าของแซนด์วิชศิริวัฒน์อันลือชื่อ ก็พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ในช่วงนั้น

ดังนั้น ถ้าคุณถูกให้ออกจากงาน จงคิดในแง่ดีว่า มันอาจจะเป็นโอกาสที่เปิดขึ้นมาเพื่อให้คุณได้มีโอกาสทำความฝันของตนเองให้เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการเป็นเจ้านายของตนเอง การมีกิจการเป็นของตนเอง หรือเป็นโอกาสที่คุณจะได้ออกมาพักผ่อนรักษาสุขภาพที่หักโหมมานาน

สิ่งสุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส หลังฝนตกฟ้าก็จะสดใส อดทนสักนิดแล้วเราก็จะผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้

0 Comments:

Post a Comment